ความหมายของ e-Learning (โดย รศ.ดร.ถนอมพร เลาหจรัสแสง)
คำว่า e-Learning โดยทั่วๆ
ไปจะครอบคลุมความหมายที่กว้างมาก กล่าวคือ จะหมายถึง
การเรียนในลักษณะใดก็ได้
ซึ่งใช้การถ่ายทอดเนื้อหาผ่านทางอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็น
คอมพิวเตอร์ เครือข่ายอินเทอร์เน็ต อินทราเน็ต เอ็กซทราเน็ต หรือ
ทางสัญญาณโทรทัศน์ หรือ สัญญาณดาวเทียม (Satellite) ก็ได้
ซึ่งเนื้อหาสารสนเทศอาจอยู่ในรูปแบบการเรียนที่เราคุ้นเคยกันมาพอสมควร เช่น
คอมพิวเตอร์ช่วยสอน (Computer-Assisted Instruction) การสอนบนเว็บ
(Web-Based Instruction) การเรียนออนไลน์ (On-line Learning)
การเรียนทางไกลผ่านดาวเทียม หรือ
อาจอยู่ในลักษณะที่ยังไม่ค่อยเป็นที่แพร่หลายนัก เช่น การเรียนจากวิดีทัศน์
ตามอัธยาศัย (Video On-Demand) เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ในปัจจุบัน คนส่วนใหญ่เมื่อกล่าวถึง e-Learning
จะหมายเฉพาะถึงการเรียนเนื้อหาหรือสารสนเทศ
ซึ่งออกแบบมาสำหรับการสอนหรือการอบรม ซึ่งใช้เทคโนโลยีของเว็บ (Web
Technology) ในการถ่ายทอดเนื้อหา และเทคโนโลยีระบบการจัดการคอร์ส (Course
Management System) ในการบริหารจัดการงานสอนด้านต่างๆ
โดยผู้เรียนที่เรียนจาก e-Learning นี้สามารถศึกษาเนื้อหาในลักษณะออนไลน์
และ/หรือ จากแผ่นซีดี-รอม ก็ได้ นอกจากนี้ เนื้อหาสารสนเทศของ e-Learning
สามารถนำเสนอโดยอาศัยเทคโนโลยีมัลติมีเดีย (Multimedia Technology)
และเทคโนโลยีเชิงโต้ตอบ (Interactive Technology)
อันที่จริง e-Learning
เป็นรูปแบบการเรียนที่เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองการเรียนในลักษณะทางไกล
(Distance
Learning)กล่าวคือเป็นรูปแบบการเรียนซึ่งผู้เรียนไม่จำเป็นต้องเดินทางมา
เรียนในสถานที่เดียวกันในเวลาเดียวกันโดยผู้เรียนจะต้อง ศึกษาเนื้อหาจาก
e-Learning Courseware
ซึ่งหมายถึงสื่อการเรียนการสอนทางคอมพิวเตอร์ที่ได้รับการออกแบบ
และพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อใช้ในการนำเสนอเนื้อหาความรู้
ในลักษณะของสื่อประสม (multimedia) มีการเน้นความเป็น non-linear
มีการออกแบบกิจกรรมซึ่งผู้เรียนสามารถโต้ตอบกับเนื้อหา (interaction)
รวมทั้งมีแบบฝึกหัดและ แบบทดสอบให้ผู้เรียนสามารถตรวจสอบความเข้าใจได้
โดยเนื้อหาของ e-Learning Courseware จะมีการแบ่งไว้เป็นหน่วยๆ (module)
เมื่อศึกษาด้วยตนเองแล้ว ผู้เรียนมีหน้าที่ในการอภิปราย
แลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมทั้งการสอบถามปัญหาต่างๆ กับเพื่อนๆ
ร่วมชั้นทางอิเล็กทรอนิกส์ (ซึ่งในที่นี้หมายถึงออนไลน์)
หลังจากนั้นผู้สอนอาจนัดหมายผู้เรียนมาพบ (ในชั้นเรียน
หรือในลักษณะออนไลน์ก็ได้) แต่ไม่ใช่เพื่อการสอนเสริมแบบการเรียนทางไกล
ในลักษณะเดิม
หากผู้สอนสามารถใช้เวลานั้นในการเน้นย้ำประเด็นสำคัญๆที่ผู้สอนทราบว่าผู้
เรียนมักจะเกิดปัญหา
หรือตอบปัญหาที่ผู้เรียนพบจากการที่ได้ศึกษาด้วยตนเองแล้วก่อนที่จะมาเข้า
ชั้นเรียนนั่นเอง
อย่างไรก็ดี การเรียนในลักษณะ e-Learning
ก็สามารถนำมาปรับใช้กับการเรียนในลักษณะปรกติได้ หากนำมาใช้ อย่างถูกวิธี
ผู้สอนก็ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการสอนในลักษณะบรรยาย (lecture)
เป็นส่วนใหญ่อีกต่อไป และสามารถ ใช้เวลาในห้องเรียนให้มีประโยชน์สูงสุด
เพราะ e-Learning สามารถนำมาใช้แทนที่หรือเสริมในส่วนของการบรรยาย
ได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเนื้อหาการเรียนซึ่งเน้นการท่องจำ (Verbal
Information) และ ทักษะทางปัญญา (Intellectual Skills) จะขอยกตัวอย่างวิชา
เทคโนโลยีและการศึกษาร่วมสมัยที่ผู้เขียนสอนอยู่เพื่อให้เกิดความชัดเจนเช่น
ในคาบแรกของการสอนผู้เขียนจำเป็นต้องสอนเนื้อหาให้ครอบคลุมทั้งความหมาย
ขอบเขต บทบาทและพัฒนาการของ เทคโนโลยีทางการศึกษา
การที่จะให้ผู้เรียนเข้าใจในความหมายของคำว่าเทคโนโลยีการศึกษา
ที่แท้จริงอย่างชัดเจนแล้ว
ผู้เรียนจำเป็นที่จะต้องใช้เวลาในการสร้างความหมายตามความคิดของผู้เรียนเอง
(Conceptualize) ซึ่งการได้มาซึ่งความ คิดของตนเองนั้น
เป็นไปไม่ได้เลยที่จะเกิดจากวิธีการสอนแบบบรรยายทั้งหมดในขณะเดียวกันหากผู้
สอนใช้เวลา
ไปกับวิธีการสอนในลักษณะใหม่ที่ทำให้ผู้เรียนพยายามสร้างความเข้าใจเกี่ยว
กับคอนเซปต์นั้นๆ ด้วยตนเอง เช่น การทำกิจกรรมเดี่ยว และ/หรือกิจกรรมกลุ่ม
หรือ การให้ผู้เรียนสรุปความจากเอกสาร หรือ การเชิญวิทยากรมา
บรรยายเพิ่มเติมและสรุปประเด็น เป็นต้น ในกรณีนี้
ผู้สอนก็จะเกิดปัญหาในการสอนไม่ทันให้ครบ ตามหัวข้อในคาบนั้น e-Learning
จึงช่วยผู้สอนในการสอนเนื้อหาที่ไม่ต้องการการอธิบายเพิ่มเติมมากนัก
เช่นในที่นี้ ได้แก่ พัฒนาการของเทคโนโลยีทางการศึกษา
และช่วยทบทวนในเนื้อหาที่ไม่สามารถลงรายละเอียดได้ ดังนั้น e-Learning
ที่ออกแบบมาดี
สามารถนำเสนอเนื้อหาบางหัวข้อแทนผู้สอนได้โดยที่ผู้สอนไม่จำเป็นต้องสอนใน
ชั้นเรียน และผู้สอนสามารถใช้เวลาในชั้นเรียนอย่างคุ้มค่ามากขึ้นเช่น
การออกแบบกิจกรรมให้ผู้เรียนคิดวิเคราะห์แทน อย่างไรก็ดี
ผู้สอนบางคนอาจจะเห็นว่า
การปรากฏตัวของครูในห้องเรียนเพื่อบรรยายเป็นสิ่งจำเป็นมากเพราะเมื่อ
ผู้เรียนเกิดปัญหาก็สามารถที่จะตอบปัญหาหรือให้ผลป้อนกลับได้ทันที
อย่างไรก็ตามให้ลองนึกกลับไปว่า ในชั้นเรียนที่ผู้สอนบรรยายในครั้งหนึ่งๆ
นั้น มีผู้เรียนที่ถามคำถามสักกี่คนและกี่คำถามกัน
ความจริงคือมีจำนวนน้อยมาก อีกทั้ง การสร้างสื่ออิเล็กทรอนิกส์อย่างมีระบบ
จะสามารถถ่ายทอดการสอนให้ใกล้เคียงกับการสอนได้จริง
รวมทั้งสามารถที่จะนำสื่อประกอบที่ผู้สอนใช้จริง
มาปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นโดยใช้สื่อในรูปแบบที่เหมาะสมและหลาก
หลายทั้งนี้เพื่อเป้าหมายสำคัญในการ สื่อความหมายให้ชัดเจนมากที่สุด
และใช้นำเสนอผ่านทางคอมพิวเตอร์ นอกจากนี้ เช่นเดียวกันกับ e-Learning
กับการสอนทางไกล การใช้เวลาในห้องเรียนของการสอนในลักษณะปรกตินี้
ผู้สอนจะต้องปรับกลยุทธ์การสอน ให้แตกต่างไปจากเดิม กล่าวคือ
ผู้สอนต้องใช้เวลาในห้องเรียนให้มีประโยชน์สูงสุด เช่น การเลือกกิจกรรม
หรือ ภาระงาน
ที่มีความหมายต่อความเข้าใจเนื้อหาการเรียนให้ผู้เรียนได้มีโอกาสลงมือทำ
หรือ การบรรยายเฉพาะส่วนของเนื้อหา ที่เป็นประเด็นสำคัญๆ
ที่ผู้เรียนมักจะพบปัญหา หรือ
การใช้เวลาในการตอบปัญหาที่ผู้เรียนพบจากการที่ได้ศึกษา ด้วยตนเอง เป็นต้น
ระดับการถ่ายทอดเนื้อหา
สำหรับ e-Learning แล้ว การถ่ายทอดเนื้อหาสามารถแบ่งได้คร่าวๆ เป็น 3 ระดับ ด้วยกัน กล่าวคือ
ระดับเน้นข้อความออนไลน์ (Text Online)
หมายถึง เนื้อหาของ e-Learning ในระดับนี้จะอยู่ในรูปของข้อความเป็นหลัก
e-Learning ในลักษณะนี้จะเหมือนกับการสอนบนเว็บ (WBI)
ซึ่งเน้นเนื้อหาที่เป็นข้อความ ตัวอักษรเป็นหลัก ซึ่งมีข้อดี ก็คือ
การประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการผลิตเนื้อหาและการบริหารจัดการคอร์ส
ระดับ Low Cost Interactive Online Course หมาย
ถึง เนื้อหาของ e-Learning ในระดับนี้จะอยู่ในรูปของตัวอักษร ภาพ
เสียงและวิดีทัศน์ ที่ผลิตขึ้นมาอย่างง่ายๆ ประกอบการเรียนการสอน
e-Learning ในระดับนี้จะต้องมีการพัฒนา CMS ที่ดี
เพื่อช่วยผู้ใช้ในการปรับเนื้อหาให้ทันสมัยได้อย่างสะดวก
ระดับ High Quality Online Course หมายถึง
เนื้อหาของ e-Learning
ในระดับนี้จะอยู่ในรูปของมัลติมีเดียที่มีลักษณะมืออาชีพ กล่าวคือ
การผลิตต้องใช้ทีมงานในการผลิตที่ประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญเนื้อหา
ผู้เชี่ยวชาญการออกแบบการสอน (instructional designers) และ
ผู้เชี่ยวชาญการผลิตมัลติมีเดีย (multimedia experts) ซึ่งหมายถึง
โปรแกรมเมอร์ (programmers) นักออกแบบกราฟิค (graphic
designers)และ/หรือผู้เชี่ยวชาญในการผลิตแอนิเมชั่น (animation experts)
เป็นต้น e-Learning ในลักษณะนี้จะต้องมีการใช้เครื่องมือ (Tools)
เพิ่มเติมในการผลิตและเรียกดูเนื้อหาด้วย
ระดับการนำ e-Learning ไปใช้
การนำ e-Learning ไปใช้ประกอบกับการเรียนการสอน สามารถทำได้ 3 ระดับ ดังนี้
สื่อเสริม (Supplementary) หมายถึงการนำ
e-Learning ไปใช้ในลักษณะสื่อเสริม กล่าวคือ นอกจากเนื้อหาที่ปรากฏในลักษณะ
e-Learning แล้ว ผู้เรียนยังสามารถศึกษาเนื้อหาเดียวกันนี้ในลักษณะอื่นๆ
เช่น จากเอกสาร(ชี้ท) ประกอบการสอน จากวิดีทัศน์ (Videotape) ฯลฯ การใช้
e-Learning ในลักษณะนี้เท่ากับว่าผู้สอนเพียงต้องการ
จัดหาทางเลือกใหม่อีกทางหนึ่งสำหรับผู้เรียนในการเข้าถึงเนื้อหาเพื่อให้
ประสบการณ์พิเศษเพิ่มเติมแก่ผู้เรียนเท่านั้น
สื่อเติม (Complementary) หมายถึงการนำ
e-Learning ไปใช้ในลักษณะเพิ่มเติมจากวิธีการสอนในลักษณะอื่นๆ เช่น
นอกจากการบรรยายในห้องเรียนแล้ว
ผู้สอนยังออกแบบเนื้อหาให้ผู้เรียนเข้าไปศึกษาเนื้อหาเพิ่มเติมจาก
e-Learning ในความคิดของผู้เขียนแล้ว ในประเทศไทย หากสถาบันใด
ต้องการที่จะลงทุนในการนำ e-Learning ไปใช้กับการเรียน การสอนตามปรกติ
(ที่ไม่ใช่ทางไกล) แล้ว อย่างน้อยควรตั้งวัตถุประสงค์ในลักษณะของสื่อเติม
(Complementary) มากกว่าแค่เป็นสื่อเสริม (Supplementary) เช่น
ผู้สอนจะต้องให้ผู้เรียนศึกษาเนื้อหาจาก e-Learning เพื่อวัตถุประสงค์
ใดวัตถุประสงค์หนึ่ง เป็นต้น
ทั้งนี้เพื่อให้เหมาะสมกับลักษณะของผู้เรียนในบ้านเราซึ่งยังต้องการคำแนะนำ
จากครู
ผู้สอนรวมทั้งการที่ผู้เรียนส่วนใหญ่ยังขาดการปลูกฝังให้มีความใฝ่รู้โดย
ธรรมชาติ
สื่อหลัก (Comprehensive Replacement)
หมายถึงการนำ e-Learning ไปใช้ในลักษณะแทนที่ การบรรยายในห้องเรียน
ผู้เรียนจะต้องศึกษาเนื้อหาทั้งหมดออนไลน์ ในปัจจุบัน e-Learning
ส่วนใหญ่ในต่างประเทศ
จะได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ในการใช้เป็นสื่อหลักสำหรับแทนครู
ในการสอนทางไกล ด้วยแนวคิดที่ว่า มัลติมีเดีย ที่นำเสนอทาง e-Learning
สามารถช่วยในการถ่ายทอดเนื้อหาได้ใกล้เคียงกับการสอนจริงของครูผู้สอนโดย
สมบูรณ์ได้
สรุป
แม้ว่าการเรียนรายบุคคลผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์เป็นเรื่องที่มีมานาน
หลายสิบปีแล้ว แต่คำว่า e-Learning
กลับเป็นเรื่องที่นักการศึกษาในบ้านเราเพิ่งหันมาให้ความสนใจกันในขณะนี้
ทั้งนี้ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะในวงการศึกษา
ระบบสาธารณูปโภคและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการเรียนจาก e-Learning
นี้เพิ่งจะมีความพร้อมและได้รับความนิยม เป็นที่แพร่หลายในเวลาไม่นาน
กอปรกับราคาของเทคโนโลยีเหล่านี้เพิ่งจะมีราคาลดลง e-Learning
เป็นรูปแบบการเรียน ที่สามารถนำไปใช้ได้หลายระดับ
ครูผู้สอนควรพิจารณานำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับความพร้อม ความถนัด ความ
สนใจและความต้องการของตน แต่อย่างไรก็ดี ผู้สอนที่สนใจจะนำ e-Learning
ไปใช้กับการสอนในลักษณะสื่อเติม หรือ สื่อหลัก
จะต้องให้ความร่วมมือในช่วงของการออกแบบและการพัฒนาอย่างเต็มที่
ทั้งนี้เพื่อให้ได้มาซึ่งสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่
สามารถถ่ายทอดการสอนได้ใกล้เคียงกับการสอนจริงมากที่สุดเสียก่อน นอกจากนี้
ผู้สอนควรที่จะต้องมีการศึกษาหา รูปแบบที่เหมาะสมสำหรับการเรียนการสอนจาก
e-Learning ของตนเพื่อให้เกิดทั้งประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อการ
ศึกษาของผู้เรียนอย่างแท้จริง
ที่มา http://www.tsu.ac.th/cc/wbl_training/e-learning.htm
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น