วันอังคารที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2556

เทคนิคการสอนคอมพิวเตอร์

เทคนิคการสอนคอมพิวเตอร์


วิชาคอมพิวเตอร์จัดได้ว่าเป็นวิชาการที่ค่อนข้างใหม่ เมื่อเปรียบเทียบกับวิชาอื่น ๆ ที่ปรากฎในหลักสูตรการเรียนการสอนในแทบทุกระดับชั้น ดังนั้นวิชาคอมพิวเตอร์จึงเป็นวิชาที่ยังขาดกระบวนวิธีในการสอนเป็นการเฉพาะ ในขณะที่วิชาอื่น ๆ จะมีวิธีสอนเฉพาะของตนเอง เช่น วิธีการสอนวิชาคณิตศาสตร์ วิธีการสอนวิชาภาษาไทย หรือวิธีการสอนวิชาสังคมศึกษา เป็นต้น ถึงแม้ในปัจจุบันจะมีผู้พัฒนาทรัยากรช่วยสอนวิชาคอมพิวเตอร์ออกมามากมาย อาทิเช่น โปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เป็นต้น แต่ถึงกระนั้น กระบวนการสอนที่เป็นวิธีการ (Activity) ก็ยังไม่ค่อยมีใครพัฒนาขึ้นมา จากการสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับการสอนคอมพิวเตอร์ในเครือข่ายอินเทอร์เน็ต จะพบว่ามีเว็บเพจที่พูดถึงวิธีสอนวิชาคอมพิวเตอร์น้อยมาก ผู้เขียนจึงเห็นว่าพวกเรา(ครูสอนคอมพิวเตอร์) ทั้งหลายน่าจะมาช่วยกันนำเสนอแนวคิดและเทคนิควิธีสอนจากประสบการณ์ของตนเอง เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน อันจะนำมาซึ่งพัฒนาการในการสอนวิชาคอมพิวเตอร์ในประเทศไทยต่อไป 


การสอนวิชาคอมพิวเตอร์นั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 หมวดใหญ่ ๆ ด้วยกันคือ 1. การสอนวิชาเชิงทฤษฎีคอมพิวเตอร์ เช่น วิชาพื้นฐานคอมพิวเตอร์ วิชาระบบฐานข้อมูล หรือ วิชาการวิเคราะห์และออกแบบระบบ 2. การสอนวิชาการเขียนโปรแกรม เช่น การเขียนโปรแกรมด้วยภาษาต่าง ๆ หรือการสร้างโปรแกรมด้วยเครื่องมือกึ่งสำเร็จรูป ( Middle Ware) ทั้งหลาย เช่น โปรแกรม Visual Basic , Delphi หรือAuthorware เป็นต้น 3. การสอนวิชาการใช้โปรแกรมสำเร็จรูป เช่น วิชาการใช้โปรแกรมประมวลผลคำ หรือวิชาการใช้โปรแกรมวาดและตบแต่งรูปภาพ เป็นต้น ในบทความนี้จะขอกล่าวถึงเทคนิควิธีสอนวิชาการใช้โปรแกรมประมวลผลคำ ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มที่ 3 โดยจะเน้นเฉพาะเทคนิคการนำเข้าสู่บทเรียน 
จากการที่ผู้เขียนได้พิจารณาการสอนของตนเอง และเพื่อนครูด้วยกัน มักพบว่า ครูจะมีวิธีนำเข้าสู่บทเรียน (การเริ่มต้นฝึกใช้โปรแกรม) อยู่ 2 รูปแบบด้วยกัน คือ 1. เริ่มสอนโดยการแนะนำให้นักเรียนรู้จักหน้าตาและเมนู รวมทั้งแนะนำเครื่องมือ (Toolbar) ต่าง ๆ บนโปรแกรมที่ปรากฏอยู่บนหน้าจอให้ครบถ้วนก่อนแล้วจึงเริ่มต้นสอนขั้นต่อไป ซึ่งผู้เขียนขอเรียกวิธีสอนแบบนี้ว่า เทคนิคการนำเข้าสู่บทเรียนแบบแนะนำ (Introduction method) ส่วนวิธีที่ 2 คือ ครูเริ่มสอนโดยการให้ผู้เรียนลองพิมพ์ข้อความสั้น ๆ ซัก 1 ประโยค ซึ่งส่วนใหญ่ผู้เรียนมักชอบพิมพ์ชื่อของตนเองก่อน แล้วจึงสอนให้ผู้เรียนลองใช้คำสั่งในเมนูและเครื่องมือในแถบเครื่องมือมาบูรณาการ ปรับแต่งข้อความที่ตนเองพิมพ์ลงไปให้สวยงามถูกใจ ผู้เขียนเรียกวิธีสอนแบบนี้ว่า เทคนิคการนำเข้าสู่บทเรียนแบบสร้างผลผลิต (Production Method) 
จากประสบการณ์การสอนของผู้เขียน พบว่าวิธีที่ 2 (Production Method) จะเป็นวิธีที่กระตุ้นและเร่งเร้าความสนใจของผู้เรียนได้ดีกว่าวิธีที่ 1 (Introduction Method) ทั้งนี้เนื่องจากวิธีการสอนแบบสร้างผลผลิตนั้น นักเรียนจะได้เรียนรู้และฝึกฝนในสิ่งที่มีความหมาย (Meaningfull Learning) ซึ่งหมายถึงการพิมพ์ข้อความที่อ่านออกมีความหมาย และสามารถใช้คำสั่งตบแต่งปรับปรุงข้อความนั้นได้ตามที่ต้องการเมื่อเริ่มหัดใช้โปรแกรม ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยทางการศึกษาหลาย ๆ เรื่องที่กล่าวถึงวิธีสอนที่มีความหมาย จะได้ผลสัมฤทธิ์สูงกว่าวิธีสอนที่ไม่มีความหมาย และด้วยการถูกกระตุ้นอย่างมีความหมายเช่นนี้ จึงทำให้นักเรียนเกิดความสนใจที่จะเรียนรู้ต่อไปอีก ซึ่งทำให้ชั้นเรียนวิชาการใช้โปรแกรมประมวลผลคำมีชีวิตชีวาขึ้นมาได้ ส่วนวิธีนำเข้าสู่บทเรียนแบบแนะนำนั้น ผู้เขียนพบว่ามักจะทำให้นักเรียนเบื่อหน่าย เนื่องจากต้องนั่งดูและฟังเฉย ๆ จนกว่าครูจะแนะนำส่วนต่าง ๆ ของโปรแกรมได้หมด นอกจากจะเป็นการเสียเวลาเปล่าแล้ว ยังทำให้ชั้นเรียนเกิดสภาวะเฉื่อยชา และบั่นทอนความสนใจของนักเรียนลงไปในที่สุด 
เทคนิควิธีการสอนที่นำเสนอในบทความนี้ ผู้เขียนหวังว่าคงจะเป็นประโยชน์แก่ครูคอมพิวเตอร์ได้บ้าง ไม่มากก็น้อย แต่เหนือสิ่งอื่นได้ ผู้เขียนคาดหวังไว้ว่า อยากเห็นครูคอมพิวเตอร์ทั้งหลาย ออกมามีส่วนร่วมใน การพัฒนางานคอมพิวเตอร์ศึกษาของไทย ให้เจริญรุดหน้ายิ่ง ๆ ขึ้นไป เพื่อให้ประเทศไทยสามารถไต่ระดับขึ้นมาเป็นแถวหน้าของวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของโลกต่อไป… 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น